วันพุธ

ประเพณีลอยกระทง

ออกพรรษาแล้ว ทำบุญตักบาตรเทโว เสร็จแล้วก็จะเข้าเทศกาลทอดกฐิน ซึ่งเป็นประเพณีของชาวพุทธสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งการทำบุญทอดกฐินก็จะจัดกันหลังออกพรรษา เมื่อเสร็จจากทำบุญก็จะเป็นประเพณีลอยกระทงกัน วันนี้ก็ได้นำเอาประวัติความเป็นมาของประเพณีนี้มาเล่าสู่กันฟัง และขอขอบคุณการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในบทความนี้ครับ
ประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ
ประวัติ / ความเป็นมา

ประเพณีลอยกระทงและเผาเทียนเล่นไฟ เป็นประเพณีเก่าแก่และมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน สันนิษฐานว่า อาจจะรับแบบอย่างมาจากอินเดีย เนื่องจากการรับอิทธิพลวัฒนธรรม เช่น ชาวอินเดียโบราณมีประเพณีบูชาแม่คงคาในฐานะเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชาวอินเดีย น้ำมีคุณอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิต ช่วยชีวิตให้อยู่รอด และชาวอินเดียเรียกประเพณีนี้ว่า "จองเปรียง" นอกจากนี้ชาวอินเดียโบราณได้จัดพิธีบูชารอยพระพุทธบาท ซึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทานทีเป็นประจำทุกปี และสุดท้ายชาวอินเดียทางภาคใต้มีการบูชาพระเป็นเจ้า ซึ่งปัจจุบันก็ยังปฏิบัติอยู่ ในราวเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน โดยจัดเป็นขบวนแห่รูปหุ่นพระเป็นเจ้าตอนกลางคืนในขบวนจุดโคมไฟ และเทียนสว่างไสว แห่แหนไปตามถนนสายต่างๆ หลังจากนั้นก็นำขบวนมุ่งไปยังท่าน้ำที่กำหนดไว้ เพื่อทำพิธีบูชาและเฉลิมฉลอง แล้วก็ลอยรูปหุ่นพร้อมทั้งโคมไฟไปตามแม่น้ำ ประเพณีนี้เรียกว่า ทีปะวารี
ประเพณีของชาวอินเดียที่กล่าวข้างต้น สันนิษฐานว่าคงมีความเกี่ยวข้องถึงการลอยกระทงของไทย ซึ่งตั้งแต่โบราณก็มีประเพณีที่มีความคล้ายคลึงกันกับอินเดีย นั่นคือ นักขัตฤกษ์ลอยโคมไฟกลางน้ำ ประเพณีนี้จัดขึ้นในเดือน 12 ตกราวเดือนตุลาคม หรือเดือนพฤศจิกายน เช่นเดียวกับอินเดีย เพราะเป็นฤดูกาลที่น้ำเอ่อนองตามแม่น้ำลำคลองทั่วไป
ในสมัยสุโขทัย เดิมมีความเชื่อกันว่า ประชาชน นิยมจัดประเพณีลอยโคม ถือเป็นประเพณีที่ให้ความสนุกสนาน ตาม แม่น้ำทั่วไปเห็นแสงไฟระยิบระยับอยู่ทั่วไปยามราตรี พระร่วงเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงสุโขทัย ได้เสด็จประพาสตามลำน้ำเพื่อทอดพระเนตรประเพณีดังกล่าว โดยมีอัครมเหสีและพระสนมฝ่ายในตามเสด็จมากมาย เมื่อนางนพมาศได้เข้ารับราชการในราชสำนักมียศเป็นท้าวศรีจุฬาลักษณ์ จึงได้คิดทำกระทงเป็นรูปดอกบัว เพื่อหวังจะเป็นเครื่องสักการะบูชารอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมทานที ตามที่เชื่อกันมา
ดังข้อความที่ปรากฏในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือตำรับทางนพมาศ ได้กล่าวว่า "พอถึงพระราชพิธีจองเปรียงในวันเพ็ญเดือน 12 เป็นวันนักขัตฤกษ์ชักโคมลอยโคม บรรดาประชาชนชายหญิงต่างตกแต่งโคม ชักโคม แขวนโคม ลอยโคมทุกตระกูลทั่วทั้งพระนคร แล้วชวนกันมาเล่นมหรสพสิ้นสามราตรีเป็นเยี่ยงอย่างแด่บรรดาข้าเฝ้าราชบุตรนั้น ต่างทำโคมประทีปบริวารวิจิตรด้วยลวดลาย วาดเขียนเป็นรูปและสัณฐานต่างๆ ประกวดกันมาชักแขวนเป็นระเบียบเรียงรายตามแนวโคมชัย เสาระหงตรงหน้าพระที่นั่งชลพิมาน ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงพระราชอุทิศสักการะบูชาพระเกศาธาตุจุฬามุณีในชั้นดาวดึงส์ฝ่ายสนมกำนัลทำโคมลอยด้วยบุปผาชาติเป็นรูปต่างๆ ประกวดกันถวายให้ทรงอุทิศบูชาพระบวรพุทธบาทซึ่งประดิษฐานยังนัมทานทีข้าน้อยก็กระทำโคมลอยคิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมพระสนมกำนัลทั้งปวง
สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีการจัดพระราชพิธี
"จองเปรียงลดชุดลอยโคม" ดังระบุไว้ในนิราศธารโศก ของเจ้าฟ้ากุ้งว่า... " เดือนสิบสองถ่องแถวโคม แสงสว่างโพยมโสมนัสสา เรืองรุ่งกรุงอยุธยา วันทาแล้วไปเห็น "
ส่วนจดหมายเหตุราชทูตลังกาที่เข้ามาในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ก็ได้ระบุในราชพิธีดังกล่าว ความว่า
" ก่อนอรุณ มีข้าราชการไทยสองคนลงมาบอกราชทูตานุทูตว่า ในค่ำวันนั้นได้มีกระบวนแห่เสด็จพระราชดำเนินทางชลมาคร ในการพระราชพิธีฝ่ายศาสนา กระบวนเสด็จผ่านที่พักราชทูตมากระบวนพิธีที่ทูตานุทูตได้เป็นมีดังนี้ คือ ตามบรรดาริมน้ำทั้งสองฟากทุกวัด ต่างปักไม้ไผ่ลำยาวขึ้นเป็นเสาโนม์ ปลายไม้ลงมาผูกเชือกชักโคมต่างๆ ครั้นได้เวลาพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเสด็จโดยกระบวน พร้อมด้วยกรมพระราชวังบวรสถานมงคล สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และเจ้าพระมหาอุปราช เรือทีเสด็จล้วนปิดทองมีกันยาดาดสี และผูกม่านในลำเรือปักเชิงทอง เงิน มีเทียนจุดตลอดลำ มีเรือข้าราชการ ล้วนแต่แต่งประทีปแห่นำตามเสด็จด้วยเป็นอันมาก ในพระราชพิธีนี้ยังมีโคมกระดาษทำเป็นรูปดอกบัวสีแดงบ้างสีขาวบ้าง มีเทียนจุดอยู่ในนั้น ปล่อยลอยตามลำน้ำลงมาเป็นอันมาก และมีรำบำดนตรีเล่นมาในเรือนั้นด้วย "
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พิธีนี้ยังคงนิยมทำกันเป็นการใหญ่ มีหลักฐานปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) กล่าวไว้ว่า "ครั้นมาถึงเดือน 12 ขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ แรมค่ำหนึ่ง พิธีจองเปรียงนั้นเดิมได้โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ ฝ่ายหน้า ฝ่ายใน และข้าราชการที่มีกำลังพาหนะมากทำกระทงใหญ่ ผู้ถูกเกณฑ์ต่อเป็นถังบ้าง เป็นแพหยวกบ้าง กว้าง 8 ศอกบ้าง 9 ศอกบ้าง กระทงสูงตลอดยอด 10 - 11 ศอก ทำประกวดประชันกันต่างๆ ทำอย่างเขาพระสุเมรุทวีปทั้ง 4 บ้าง และทำเป็นกระจาดๆ ชั้นๆ บ้าง วิจิตรไปด้วยเครื่องสด คนทำก็นับร้อย คือในการลงทุนทำกระทงทั้งค่าเสียงคน และพระช่าง เบ็ดเสร็จก็ถึง 20 ชั่งบ้าง ย่อมกว่าบ้าง กระทงนั้น วัน 14 ค่ำ เครื่องเขียว 15 ค่ำเครื่องขาว วันแรมค่ำหนึ่งเครื่องแดงดอกไม้สดก็เลือกหาตามสีกระทง และมีจักรกลไกต่างกันทุกกระทง มีมโหรีขับร้องอยู่ในกระทงนั้นก็มีบ้าง เหลือที่พรรณาว่ากระทงนั้น ผู้นั้น ทำอย่างนั้นคิดดูการประกวดประชันจะเอาชนะกันคงวิเศษต่างๆ กัน
เรือมาดูกระทงตั้งแต่บ่าย หรือชักลากกระทงจึงไปเข้าที่ตั้งแต่บ่าย 5 โมง เรือเบียดเสียดสับสนกันหลีกไม่ค่อยไหวเป็นอัศจรรย์ เรือข้าราชการและราษฎรมาดูเต็มไปทั้งแม่น้ำ เวลาค่ำเสด็จลงพระตำหนักน้ำทรงลอยประทีป"
การทำกระทงใหญ่ในลักษณะดังกล่าวมานี้ น่าจะมีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 3 ครั้นมาถึงรัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลือง จึงโปรดให้ยกเลิกเสีย และโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ทำเรือลอยพระประทีปแทนกระทงใหญ่ถวายองค์ละลำ เรียกว่า "เรือลอยพระประทีป" ต่อมารัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ขึ้นอีก ในปัจจุบันนี้การลอยพระประทีปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำเป็นการส่วนพระองค์ตามพระราชอัธยาศัย แต่พิธีของชาวบ้านยังทำกันอยู่เป็นประจำ
สำหรับจังหวัดสุโขทัยมีการยึดถือปฏิบัติประเพณีลอยกระทงและเผาเทียนเล่นไฟมานานและนับว่ามีชื่อเสียงที่สุด ในฐานะทีเป็นสถานที่ต้นกำเนิดของประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ จึงมีการสืบทอดประเพณีตั้งแต่สมัยอดีตจนปัจจุบัน โดยมักจะอ้างถึงเรื่องราวในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ แต่ทุกวันนี้ได้มีผู้ศึกษาและวิเคราะห์ถึงหลักฐานเอกสารดังกล่าวว่า ได้ถูกแต่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ และเชื่อกันใหม่ว่า ไม่มีนางนพมาสในสมัยสุโขทัยด้วย ดังความคิดเห็นของผู้รู้หลายท่าน เช่น
1. พระยาอนุมานราชธน เชื่อว่า หนังสือเรื่องนางนพมาศ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์
2. ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่า หนังสือเรื่องนางนพมาศ แต่งในระหว่าง พ.ศ.2360-2378 เป็นอย่างช้าที่สุด เป็นวรรณกรรมสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีลักษณะร่วมกับวรรณกรรมของยุคเดียวกันหลายประการ และทุกคนยอมรับว่าหนังสือนางนพมาศนั้นมีผู้แต่งเกิน 1 คน และอย่างน้อยมีเหตุผลที่น่าเชื่อว่ามีพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ปนอยู่ไม่น้อย เพราะบางตอนของเรื่องเป็นการสะท้อนความเป็นราชสำนักพระนั่งเกล้าฯ ได้เป็นอย่างดี
3. ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร อธิบายว่า "เรื่องนางนพมาศ มีข้อความที่แต่งในสมัยรัตนโกสินทร์ เช่นมีคำว่า อเมริกา (ซึ่งในสมัยสุโขทัยยังไม่มีใครรู้จักคำว่าอเมริกา) ดังนั้นตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือตำรับนางนพมาศ จึงไม่เป็นวรรณกรรมในสมัยสุโขทัย และอีกประการหนึ่ง ในจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมีคำว่า "เผาเทียน" "เล่นไฟ" แต่ไม่มีคำว่า "ลอยกระทง" และตลอดจนศิลาจารึกทั้งหมดของสุโขทัย ก็ไม่มีคำว่า "ลอยกระทง" ศ. ดร.ประเสริฐ ณ นคร ได้อธิบายว่า "การเผาเทียนเล่นไฟ สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช อาจเป็นเพียงการจุดเทียนและตะเกียงน้ำมัน จะมีพลุหรือไม่ในเมื่อมาร์โคโปโลรายงานไว้ว่า สมัยนั้นจีนมีดินปืนเป็นอาวุธแล้ว อย่างไรก็ดี จารึกหลักที่ 106 พ.ศ. 1927 กล่าวว่า พระศรีรัตนธาตุ กระทำปาฏิหารย์เหมือนท่านเล่นพันลุ (พลุ) เท่าลูกพันลับ (พลับ)"
ดังนั้น สมัยสุโขทัยเองก็คงจะมีเพียงการ "เผาเทียน" หรือ "เล่นไฟ" แต่ไม่ใช่ลอยกระทง และไม่มีนางนพมาศในสมัยสุโขทัย แต่อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูประเพณีที่ดีงามจะมีหรือไม่มีการลอยกระทงหรือนางนพมาศ ทางจังหวัดสุโขทัยก็ได้ริเริ่มการจัดงานลอยกระทงและเผาเทียนเล่นไฟขึ้นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2520 และได้รับความสำเร็จอย่างสูง และยังจัดอยู่ในปัจจุบัน
กำหนดงาน วันเพ็ญเดือน 12 (เดือนพฤศจิกายน) และจัดประมาณ 3 วัน สามารถตรวจสอบรายละเอียดได้ที่
www.tat.or.th/festival
กิจกรรม / พิธี

ในงานตอนกลางวันของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 จัดให้มีขบวนแห่พนมหมาก พนมดอกไม้ ในเวลาบ่ายประมาณ14 นาฬิกา เป็นขบวนแห่กระทง และมีขบวนต่างๆ จากอำเภอในจังหวัดสุโขทัยมีนางนพมาศนั่งมากับกระทงด้วย มีสาวๆ ที่ถือพนมหมาก พนมดอกไม้ นั่งร่วมอยู่ด้วย
พนมหมาก และพนมดอกไม้นี้นำไปสักการะพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ณ อนุสาวรีย์ของพระองค์ที่ประดิษฐานอยู่ในใจกลางเมืองเก่าสุโขทัย
สาวๆ ที่เข้าร่วมขบวนแห่ในวันนี้แต่งกายแบบชาวสุโขทัย เมื่อ 700 ปีก่อน ซึ่งก็ได้เค้ามาจากภาพปูนปั้นที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ กลางเมืองสุโขทัย
ขบวนแห่พนมหมาก พนมดอกไม้ นางนพมาศ และกระทงแห่แหนไปทั่วบริเวณเมืองเก่าสุโขทัย และหยุดขบวนเป็นจุดๆ เพื่อแสดงการฟ้อนหรือการละเล่นต่างๆ ให้ชมกัน
ขบวนแห่จบสิ้นลงราวๆ 16 นาฬิกา และผู้คนต่างเคลื่อนย้ายไปที่บริเวณอนุสาวรีย์ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เพื่อคอยชมระบำสุโขทัย เพื่อบวงสรวงพ่อขุน ในแต่ละปีจะใช้ผู้แสดงกว่า 700คน ตามอายุของเมืองสุโขทัย
เมื่อการบวงสรวงพ่อขุนเสร็จแล้ว เวลาประมาณ 17 นาฬิกา ผู้คนและนักท่องเที่ยวจะทยอยเข้ามาในเขตเมืองเก่า แล้วการลอยกระทงตามตระพังต่างๆ ก็เริ่มขึ้น ตลอดจนมีการแสดงแสงสีเสียง เรื่อง ราชธานีสุโขทัย เป็นความร่วมมือของกรมศิลปากร และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มีผู้เสดงจำนวนนับร้อยมาร่วมเข้าฉากแสดงด้วย จำลองเหตุการณ์และบรรยากาศ เมื่อพระร่วงเจ้าเสด็จ ออกลอยพระประทีปฉากจบมีการจุดดอกไม้ไฟสว่างไสว มีการปล่อยโคมลอยของชาวเชียงใหม่ ลำพูน ภายในโคมลอยมีแสงไฟเรืองรองอยู่ด้วย มันค่อยๆ เลื่อนขึ้นสู่ท้องฟ้าสวยงามน่าประทับใจเป็นอย่างมาก

ขอบคุณข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
http://kreathapat.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น